วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เด็กไทยติดโทรศัพท์มือถือ ใช้ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน


โทรศัพท์มือถือกลายมาเป็นสิ่งของติดตัวที่หลาย ๆ คนขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟน พ่อแม่หลาย ๆ คนซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูก ๆ มีพกติดตัวเอาไว้เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อ ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือเสริมทักษะการเรียนรู้ และฝึกความรับผิดชอบ
แต่เมื่อลูกใช้ หรือเล่นโทรศัพท์มากขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มว่าเด็กยุคใหม่ใช้ชีวิตกับโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ลูกคุณกำลังใช้เวลากับโทรศัพท์มากเกินไปหรือเปล่า? รายงานข่าวล่าสุดอาจทำให้คุณตกใจ

เกิดอะไรขึ้น?

              จากรายงานข่าวที่ออกมาเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทำการสำรวจเด็ก ๆ ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดจำนวน 3,058 คนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และพบว่าชีวิตของเด็ก และวัยรุ่นยุคใหม่ผูกพันกับโทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 51.1 ของเด็กในการสำรวจหยิบโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งแรกหลังตื่นนอน และ ร้อยละ 35 ของเด็ก ๆ ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นกิจกรรมสุดท้ายก่อนเข้านอน ร้อยละ 75.7 ของเด็ก ๆ ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กบ่อย หรือเป็นประจำ อันที่จริงการใช้โทรศัพท์มือถือก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่เองก็ใช้กัน แล้วปัญหามันอยู่ที่ไหนกันล่ะ?


ปัญหาที่เกิดขึ้น?

             ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ แสดงความกังวลต่อการติดโทรศัพท์มือถือว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะไปดึงเวลาการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวให้น้อยลง
นอกจากนี้การสำรวจโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยังพบว่ามีเด็กร้อยละ 20.3 แอบใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างคาบเรียนบ่อย ถึงประจำ นอกจากนี้ยังมีเด็กร้อยละ 42.5 รู้สึกทนไม่ได้ ถ้าต้องอยู่คนเดียวโดยไม่มีโทรศัพท์ ที่น่าตกใจคือมีเด็กร้อยละ 28.7 ถูกคุกคามทางเพศผ่านสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กโดยในนี้พบว่าเป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง


คุณจะทำอะไรได้บ้าง?

            อย่าเพิ่งตระหนกตกใจไปว่าลูกของคุณจะเป็นเด็กที่มีปัญหาที่พบในการสำรวจ อันที่จริงแล้ว พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่ดีสามารถสร้างกันได้ ลองพูดคุยกับลูกถึงเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือ และคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่ห่าง ๆ
1) สอนลูกว่าให้รู้จักมีวินัยในตัวเอง การใช้โทรศัพท์บางทีก็ไม่ต่างอะไรกับการเล่นเกม มันมีเวลาของมัน มันมีทั้งประโยชน์ และโทษ ลูกจะต้องรู้จักใช้โทรศัพท์ให้ถูกที่ ถูกเวลา ลูกก็จะรู้ว่าเวลาเรียนควรจะเรียน ไม่ควรนำโทรศัพท์ออกมาใช้
2) อย่าลืมสอนให้ลูกรู้ว่าช่วงเวลาครอบครัว เช่น ระหว่างมื้ออาหาร ลูกไม่ควรนำโทรศัพท์ออกมาเล่น หรือใช้โดยไม่จำเป็น คุณควรสอนให้ลูกรู้จักมารยาท กาลเทศะ และควรให้ความสนใจกับคนที่อยู่ตรงหน้ามาก่อน
3) พาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกับครอบครัวกันบ้าง เพื่อให้ลูกได้ละมือจากโทรศัพท์มือถือ แนะนำให้ลูกรู้จักงานอดิเรกต่าง ๆ เพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว
4) สอนลูกว่าไม่ควรรับคนที่เราไม่เคยรู้จัก หรือไม่ได้มีเพื่อนร่วมกันกับเราเลยมาเป็น เพื่อนในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก  เพื่อป้องกันการถูกคุกคาม (ไม่ว่าจะทางเพศหรือไม่) จากคนแปลกหน้าในสังคมออนไลน์
5) ไม่ว่าลูกจะใช้โทรศัพท์มือถือแบบใด อย่าลืมสอนให้ลูกรู้จักความปลอดภัย อย่าให้โทรศัพท์ขณะเดินข้ามถนน หรือตอนอยู่คนเดียว (ไม่ว่าจะอยู่ในที่เปลี่ยวหรือไม่ก็ตาม) บางครั้งมิจฉาชีพก็เล็งเหยื่อที่มัวแต่เล่นโทรศัพท์โดยไม่ได้สังเกตระวังภัยอะไรรอบตัว

ที่มา : http://th.theasianparent.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น